บทความ

สามีภริยาไม่ได้จดทะเบียนสมรส แยกทางกันทรัพย์สินเป็นของใคร ?

สามีภริยาไม่ได้จดทะเบียนสมรส

 

          สามีภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ไม่ถือว่าเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย แต่อย่างไรก็ดี ทรัพย์สินที่ชายหญิงได้ลงทุน ร่วมแรง ทำมาหาได้ร่วมกันระหว่างที่อยู่กินกันนั้นถือว่าเป็น “เจ้าของร่วมกัน” และมีส่วนในทรัพย์สินเหล่านั้นคนละครึ่งเท่ากัน

          การลงทุน ร่วมแรง ทำมาหาได้ร่วมกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นการลงทุนทำการค้า เช่น ชายไปทำงาน หญิงอยู่บ้านทำกับข้าว เลี้ยงลูก ดูแลครอบครัวก็ถือว่าเป็นการลงทุน ร่วมแรง ทำมาหาได้ร่วมกันแล้ว ทรัพย์สินที่สามีทำมาหาได้นั้น ก็ถือเป็นเจ้าของร่วมกัน แต่หากทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน เช่น มรดก กรณีนี้ เป็นทรัพย์ของฝ่ายที่ได้รับมรดกแต่เพียงผู้เดียวหรือเงินได้จากสลากกินแบ่งรัฐบาล เงินนี้ก็เป็นทรัพย์สินของฝ่ายที่ซื้อ สลาก ฯ แต่เพียงผู้เดียว เป็นต้น

          นอกจากนั้น กรณีชายแต่งงานกับชาย , หญิงแต่งงานกับหญิง มาอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยา ทรัพย์สินที่บุคคลทั้งสองทำมาหาได้ด้วยกัน ต้องถือว่าบุคคลทั้งสองมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกันเหมือนกัน ต้องแบ่งกันคนละครึ่ง

         ส่วนกรณีที่ชายมีภริยาอยู่แล้ว แต่มีภริยาน้อย ทรัพย์สินที่ชายกับภริยาน้อยทำมาหาได้ด้วยกันนั้นก็ต้องแบ่งกันคนละครึ่ง และครึ่งที่ชายแบ่งได้มาย่อมเป็นสินสมรสระหว่างชายกับภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การจะใช้หลักเกณฑ์นี้ได้นั้น ต้องปรากฏว่าชายกับภริยาน้อย ต้องอยู่คนละบ้านกับภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย คือ แบ่งกันเป็นส่วนสัด แต่หากปรากฏว่าภริยาน้อยมาอยู่บ้านเดียวกันกับสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีนี้ภริยาน้อยไม่มีส่วนในทรัพย์สินอะไรเลย

ศึกษาคำพิพากษาศาลฎีกาเพิ่มเติมได้ดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 684/2508 โจทก์จำเลยแต่งงานกันตามประเพณีนิยม (ไม่ได้จดทะเบียนสมรส) อยู่กินกันฉันสามีภริยาทำมาหากินร่วมกัน มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นมานี้ย่อมเป็นของโจทก์จำเลยร่วมกัน จำเลยมีสิทธิขอแบ่งได้ครึ่งหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5252/2533 โจทก์จำเลยต่างมีคู่สมรสอยู่ก่อนแล้ว ต่อมาได้มาอยู่กินฉันสามี ภริยาและช่วยกันประกอบอาชีพขับรถรับส่งผู้โดยสารทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ในระหว่างนั้นเป็นของโจทก์และจำเลยร่วมกันคนละเท่า ๆ กัน โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอแบ่งส่วนของโจทก์จากจำเลยได้ และแม้ทรัพย์สินดังกล่าวจะเกิดขึ้นในขณะที่โจทก์จำเลยอยู่ร่วมกันโดยยังมิได้ขาดจากการสมรสอยู่กับคู่สมรสเดิมก็หาเป็นเหตุขัดข้องในการขอแบ่งไม่ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์จำเลยหาใช่เป็นหุ้นส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3075/2540 ซื้อที่ดินมาระหว่างอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ย่อมเป็นกรรมสิทธิ์รวม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1242/2542 เมื่อปรากฏว่าจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านพิพาทรวมกับโจทก์ที่ปลูกอยู่บนที่ดิน 2 แปลง ซึ่งมีรั้วล้อมรอบที่ดินโดยที่ดินแปลงหนึ่งจำเลยได้รับการยกให้จากมารดา อีกแปลงหนึ่งคือที่ดินพิพาท ซึ่งโจทก์ได้รับยกให้จากน้องชายจำเลยโดยมีข้อแลกเปลี่ยนให้โจทก์ยอมรับบุตรของน้องชายจำเลยเป็นบุตรของโจทก์ ตามพฤติการณ์ดังกล่าวแม้โจทก์จะมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแต่ผู้เดียวก็ตาม แต่โจทก์ได้ที่ดินพิพาทมาในระหว่างที่อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยโดยได้รับการยกให้จากน้องชายจำเลยด้วยความสัมพันธ์และข้อแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคลในครอบครัว ทั้งสองฝ่ายได้ครอบครองร่วมกันมาระหว่างอยู่กินด้วยกัน ถือว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกัน โจทก์จำเลยจึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทร่วมกันคนละครึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4355/2551 แม้ข้อที่ผู้ร้องเบิกความอ้างว่าผู้ร้องมีส่วนร่วมกับผู้ตายออกเงินซื้อรถยนต์พิพาทจะรับฟังไม่ได้ แต่ก็ได้ความว่าผู้ร้องแต่งงานอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตายเมื่อปี 2535 และผู้ตายมีบุตรด้วยกัน 2 คน ระหว่างที่อยู่กินด้วยกันผู้ร้องทำงานที่บริษัท จ. ส่วนผู้ตายมีอาชีพทำเครื่องไฟ กรณีจึงถือว่าผู้ร้องและผู้ตายร่วมกันทำมาหากินและมีเจตนาเป็นเจ้าของในทรัพย์ที่หามาได้ในระหว่างอยู่กินด้วยกัน เมื่อผู้ตายได้รถยนต์พิพาทมาในระหว่างอยู่กินกับผู้ร้อง ผู้ร้องย่อมมีส่วนเป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทด้วยในฐานะเจ้าของร่วม ผู้ร้องจึงมีส่วนได้เสียในรถยนต์ดังกล่าวซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายและมีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1239/2554 ผู้มีส่วนได้เสียตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1713 นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะทายาทโดยธรรมหรือในทางพินัยกรรมของผู้ตายโดยตรง แม้ผู้คัดค้านเป็นสามีไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แต่ได้อยู่กินร่วมกันมานานสิบกว่าปีจนผู้ตายถึงแก่ความตาย โดยมีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คัดค้านกับผู้ตายมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินมีโฉนดรวม 3 แปลง ซึ่งผู้ร้องทั้งสองเบิกความรับว่า ผู้คัดค้านกับผู้ตายประกอบกิจการอู่ซ่อมรถยนต์ร่วมกัน โดยให้ผู้ร้องทั้งน้อง ๆ และหลาน ทำงานในอู่และรับเงินเดือนเป็นค่าจ้าง ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ในการตั้งผู้จัดการมรดกนั้นศาลย่อมใช้ดุลพินิจคำนึงถึงความเหมาะสมประกอบกับพฤติการณ์ที่จะให้ประโยชน์แก่ทายาทและกองมรดก เมื่อเห็นว่าการให้ผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านจัดการมรดกร่วมกันน่าจะเป็นประโยชน์แก่ทายาทและกองมรดก มากกว่าให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจัดการมรดกฝ่ายเดียว ศาลย่อมตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันได้

ฟ้องแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

กรณีสามีภริยาไม่ได้จดทะเบียนสมรส

ติดต่อ ทนายเจตน์สฤษฎิ์ ไชยงค์ รับว่าความทั่วราชอาณาจักร