บทความ
หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา
หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ผ่านสื่อสังคมออนไลน์
ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงินสด! ได้
คดีหมิ่นประมาท เป็นคดีอาญาผู้เสียหายสามารถแจ้งความร้องทุกข์ หรือ แต่งตั้งทนายความยื่นฟ้องต่อศาลโดยตรงได้ แต่เนื่องจากคดีหมิ่นประมาทนั้นเป็นความผิดต่อส่วนตัว สามารถยอมความกันได้ จึงต้องกระทำการแจ้งความหรือฟ้องร้อง ภายใน 3 เดือน นับแต่รู้ถึงการกระทำความผิด
หมิ่นประมาทธรรมดา
มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 327 ผู้ใดใส่ความผู้ตายต่อบุคคลที่สาม และการใส่ความนั้นน่าจะเป็นเหตุให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษดังบัญญัติไว้ในมาตรา 326 นั้น
หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ผ่านสื่อสังคมออนไลน์
มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฎไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษรกระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
คำว่า “โฆษณา” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้หมายความว่า เผยแพร่ข้อความออกไปยังสาธารณชน , ป่าวร้อง , ป่าวประกาศ เช่น โฆษณาสินค้า หรือ กระทำการไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ให้ประชาชนเห็นหรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้า
การหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา หมายความถึงการกระทำใด ๆ ที่ทำให้ข้อเท็จจริงนั้นแพร่หลายไปยังบุคคลภายนอก หรือ สาธารณชนในลักษณะที่เป็นวงกว้าง เพราะในปัจจุบันนี้ การแสดงออก หรือ แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ Facebook , Line Group, Twitter, Youtube นั้น ได้มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว บางครั้งอาจจะมีการกล่าวพาดพิงถึงบุคคลอื่น ทำให้บุคคลนั้นได้รับความเสียหายไม่ว่าจะเป็นความเสียหายต่อ ชื่อเสียง เกียรติยศ หรือ ทำให้บุคคลนั้นถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้ที่ถูกกล่าวถึงหรือได้รับความเสียหายจากข้อความดังกล่าว มีสิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาทได้
ซึ่งนอกจากจะเป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ยังอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 อีกด้วย ขอบคุณที่มาจาก : สารพันปัญหากฎหมาย ความผิดฐานหมิ่นประมาทกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์
คำหมิ่นประมาท คือ การพูดของบุคคลที่หนึ่ง พูดถึงบุคคลที่สองให้บุคคลที่สามฟัง (และต้องไม่เป็น คำด่า คำหยาบคาย ดูหมิ่น ตามมาตรา 393) แต่เป็น “คำใส่ความ” ที่ลดคุณค่าทางสังคมของผู้ถูกหมิ่นประมาทลงด้วยการ ใส่ความ ใส่ร้าย ไปในทางที่ไม่จริงและทำให้บุคคลที่สองได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติยศ หรือ ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ก็ตาม หรือ แม้แต่ความจริง ถ้าพูดแล้วทำให้ผู้อื่นเสียหายก็ผิดฐานหมิ่นประมาท หรือ แม้จะโพสข้อความในลักษณะใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามลงในสื่อสังคมออนไลน์ โดยไม่ระบุชื่อ , ใช้อักษรย่อ , คำใบ้ ดังกล่าว หากการโพสข้อความนั้น สามารถสื่อให้บุคคลทั่วไปรู้ได้ว่าหมายถึงใคร หรือ เป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าบุคคลที่ถูกใส่ความเป็นใคร ก็อาจจะเข้าข่ายหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาได้
ตัวอย่างข้อความหมิ่นประมาท : เช่น
– “รับเงินใต้โต๊ะ” : พูดใส่ความให้ถูกมองว่าเป็นคนทุจริต
– “เป็นกระหรี่” : หญิงโสเภณีหรือค้าประเวณี (คำพิพากษาศาลฎีกา 2371/2522)
– “พระวัดนี้เลวมาก ดูหนังบ้าง บ้าผู้หญิงบ้าง” (คำพิพากษาศาลฎีกา 448/2489)
– “คนจัญไร” : เลวทราม เป็นเสนียด ไม่มงคล เป็นการหลบหลู่เหยียดหยาม (คำพิพากษาศาลฎีกา 7301/2559)
– “อีเฒ่าหัวหงอก”… “มึง”… : เป็นสรรพนามเรียกคน แต่เปรียบเปรยไปในทางไม่ให้ความเคารพ อับอาย ถูกเหยียดหยาม (คำพิพากษาศาลฎีกา 8752/2558)
เว้นแต่
มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(3) ติชม ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม เรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
มาตรา 330 ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
มาตรา 331 คู่ความ หรือทนายความของคู่ความ ซึ่งแสดงความคิดเห็น หรือข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
มาตรา 333 ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้
ถ้าผู้เสียหายในความผิดฐานหมิ่นประมาทตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดามารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย