บทความ
ขอตั้งผู้จัดการมรดก
การยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ถ้าทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกทุกคนให้ความยินยอม (โดยไม่มีผู้คัดค้าน) ท่านสามารถขอให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลจัดตั้งผู้จัดการมรดกได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย (ยกเว้น ค่าธรรมเนียมศาล) ณ สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัด ในท้องที่ของท่าน
โดยมีหลักเกณฑ์ในการร้องขอให้พนักงานอัยการ จัดทำคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก..ให้ดังนี้
– เฉพาะกรณีที่ทายาทจัดเตรียมเอกสารครบถ้วน และทายาททุกคนให้ความยินยอมในการขอตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้จัดการมรดกครบทุกคน เท่านั้น
หมายความว่า ทายาท หรือ ผู้มีส่วนได้เสียทุกคน จะต้องมาลงลายมือชื่อในหนังสือให้ความยินยอมในการร้องขอจัดการมรดก ต่อหน้าพนักงานอัยการ/เจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี ในท้องที่จังหวัดของท่าน
– กรณีที่ทายาทผู้ให้ความยินยอมไม่สามารถเดินทางไปจัดทำหนังสือให้ความยินยอมของทายาทได้ ทายาทผู้ให้ความยินยอมจะต้องจัดทำหนังสือให้ความยินยอมคลิก และต้องมีข้าราชการรับรองการลงลายมือชื่อพร้อมแนบสำเนาบัตรข้าราชการของผู้รับรอง
– กรณีทายาทผู้ให้ความยินยอมอยู่ต่างประเทศและไม่สามารถเดินทางกลับมาลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในประเทศไทยได้ ทายาทผู้ให้ความยินยอม ต้องลงลายมือชื่อในหนังสือให้ความยินยอมโดยมีพยานรับรองลายมือชื่อ ดังนี้ สำหรับทายาทซึ่งอยู่ในเมืองที่มีสถานกงสุลประจำประเทศไทย ต้องให้กงสุลนั้นเป็นพยาน
แต่สำหรับในเมืองที่ไม่มีสถานกงสุลประจำประเทศไทย ต้องให้เจ้าพนักงานโนตารีปับลิกหรือแมยิสเตร็ดหรือบุคคลอื่น ซึ่งกฎหมายแห่งท้องถิ่นตั้งให้เป็นผู้มีอำนาจเป็นพยานในเอกสารเช่นว่านั้น และต้องมีใบสำคัญของรัฐบาลต่างประเทศที่เกี่ยวข้องแสดงว่าบุคคลที่เป็นพยานนั้นเป็นผู้มีอำนาจกระทำการได้ ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 วรรคสาม
หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ให้เตรียมเอกสารหลักฐานดังนี้
๑. เอกสารของเจ้ามรดก (ผู้ตาย)
✓ สำเนาทะเบียนบ้าน (ประทับคำว่า “ตาย”) จำนวน ๔ ชุด
✓ สำเนาใบมรณบัตร หรือ หนังสือรับรองการตาย จำนวน ๔ ชุด
✓ สำเนาใบสำคัญการสมรส/ใบสำคัญการหย่า จำนวน ๔ ชุด
✓ สำเนาหนังสือรับรองการเปลี่ยนชื่อ – สกุล (หากมี) จำนวน ๔ ชุด
✓ สำเนาข้อมูลทะเบียนครอบครัว ทะเบียนสมรส, ทะเบียนรับรองบุตร, ทะเบียนรับรองบุตรบุญธรรม ออก ณ ที่ว่าการอำเภอ จำนวน ๔ ชุด
✓ พินัยกรรมของผู้ตาย (หากมี)
๒. เอกสารของผู้จะขอเป็นผู้จัดการมรดก
✓ สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน ๔ ชุด
✓ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน ๔ ชุด
✓ สำเนาใบสำคัญการสมรส (หากมี) จำนวน ๔ ชุด
✓ สำเนาใบสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อ – ชื่อสกุล (หากมี) จำนวน ๔ ชุด
๓. เอกสารของทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกทุกคน (บิดา มารดา คู่สมรส บุตร ฯลฯ ของผู้ตาย)
✓ สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน ๔ ชุด
✓ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน ๔ ชุด
✓ สำเนาใบสำคัญการสมรส (หากมี) จำนวน ๔ ชุด
✓ สำเนาใบสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อ – ชื่อสกุล (หากมี) จำนวน ๔ ชุด
✓ สำเนาใบมรณบัตรของบิดา และ/หรือ มารดา ของเจ้ามรดก (กรณีเสียชีวิต)
(หากไม่มี ต้องให้ที่ว่าการอำเภอออกหนังสือรับรองให้) จำนวน ๔ ชุด
✓ หนังสือให้ความยินยอมในการร้องขอจัดการมรดก (ดาว์โหลดที่นี่ ไทย/EN)
✓ บัญชีเครือญาติ (สำนักงานอัยการฯ จัดทำให้)
๔. เอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สินของเจ้ามรดก
✓ ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ปรากฏชื่อของเจ้ามรดก เช่น โฉนดที่ดิน ทะเบียนรถ สมุดบัญชีธนาคาร ใบหุ้น ฯลฯ จำนวน ๔ ชุด
๕. ค่าธรรมเนียมศาล
✓ ค่าขึ้นศาล จำนวน ๒๐๐ บาท
✓ ค่าพาหนะและค่าป่วยการในการส่งคำคู่ความและเอกสารทางคดี ตามอัตราของศาล
หมายเหตุ :
➢ ทายาท ผู้มีส่วนได้เสียทุกคนจะต้องมาลงลายมือชื่อในหนังสือให้ความยินยอมในการร้องขอจัดการมรดก ต่อหน้าพนักงานอัยการ/เจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี ในท้องที่ของท่าน
➢ สำเนาเอกสารทุกฉบับให้ผู้ร้อง /ทายาท ลงลายมือชื่อและรับรองสำเนาถูกต้องทุกแผ่น
➢ รายการเอกสารข้างต้นอาจมีการเพิ่มเติม/เปลี่ยนแปลงได้ตามข้อเท็จจริงในแต่ละกรณี
➢ ผู้จัดการมรดก ไม่ใช่ ผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย แต่เพียงผู้เดียว แต่มีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์ทายาทตามที่กฎหมายกำหนด
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ : สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย