บทความ
การยื่นคําร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก
การยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก
ภายหลังจากผู้ตาย (เจ้ามรดก) ได้ถึงแก่ความตายแล้ว มรดก คือ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย รวมทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ของผู้ตาย เช่น ที่ดิน เงินฝากธนาคาร หุ้น ค่าเช่า ดอกเบี้ย เงินปันผล หนี้ ภาระติดพันทั้งการจำนอง จำนำ หรือ ค้ำประกัน เป็นต้น จะตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม แต่ก็อาจเกิดปัญหาในการแบ่งมรดก เช่น ไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินได้ ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน หรือ ลูกหนี้ของเจ้ามรดกไม่ยอมชำระหนี้
กฎหมายจึงให้ตั้งผู้ที่จะมาจัดการมรดกของเจ้ามรดกซึ่งเรียกว่า “ผู้จัดการมรดก“ แม้เจ้ามรดกจะทำพินัยกรรมโดยจะตั้งผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมไว้หรือไม่นั้น ทายาทผู้รับมรดกตามพินัยกรรมก็มีความจำเป็นต้องร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก เช่นกัน
>> ทายาทที่มีสิทธิรับมรดก ได้แก่
- ผู้รับพินัยกรรม
- ทายาทโดยธรรม ซึ่งมีสิทธิได้รับมรดก มี 6 ลำดับ ดังนี้
- ผู้สืบสันดาน
- บิดามารดา
- พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
- พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
- ปู่ ย่า ตา ยาย และ
- ลุง ป้า น้า อา
>> คุณสมบัติของผู้จัดการมรดก
- บรรลุนิติภาวะ (มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์)
- ไม่เป็นคนวิกลจริต
- ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
- ไม่เป็นคนล้มละลาย
>> เขตอำนาจศาล
ให้ยื่นต่อศาลที่ผู้ตาย (เจ้ามรดก) มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย ได้แก่ ศาลแพ่ง (กทม.), ศาลจังหวัด (ต่างจังหวัด) หากผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ ให้ยื่นต่อศาลที่ทรัพย์มรดกนั้นตั้งอยู่ในเขตศาล
>> ยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ได้ 3 วิธีดังนี้
1. ว่าจ้างทนายความยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก (ค่าใช้จ่ายเริ่มต้น 10,000 บาท (ไม่รวมค่าธรรมเนียมศาล 200 บ. และค่านำหมาย)
2. ติดต่อสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัด ดำเนินการยื่นคำร้องให้แทน (มีค่าธรรมเนียมศาล 200 บ.) ทั้งนี้ ทายาทต้องไปเซ็นต์ให้ความยินยอมต่อหน้าอัยการทุกคน และเอกสารจะต้องครบถ้วนเท่านั้น อัยการจึงจะสามารถดำเนินการให้ได้
3. ทายาทดำเนินการยื่นด้วยตนเอง เบิกความด้วยตนเอง (ค่าธรรมเนียมศาล 200 บ. + ค่านำหมาย)
>> เอกสารที่ใช้ประกอบการยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก >> คลิกที่นี่ <<
1. เอกสารผู้ตาย (เจ้ามรดก)
– ใบมรณบัตรหรือหนังสือรับรองการตาย (ขอที่เทศบาลหรือที่ว่าการอำเภอ)
– ทะเบียนบ้าน , บัตรประจำตัวประชาชนผู้ตาย (ถ้ามี)
– ใบสำคัญการสมรส (ทะเบียนสมรส) กรณีผู้ตายจดทะเบียนสมรส
– หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อตัว – ชื่อสกุล (ถ้ามี)
2. เอกสารของบิดาและมารดาของผู้ตาย
กรณียังมีชีวิต
– ทะเบียนบ้าน, บัตรประจำตัวประชาชน
– ใบสำคัญการสมรส (ทะเบียนสมรส)
กรณีเสียชีวิต
– ใบมรณบัตร หรือ หนังสือรับรองการตาย (ขอได้ที่เทศบาล หรือ ที่ว่าการอำเภอ)
3. เอกสารของคู่สมรสของผู้ตาย
กรณียังมีชีวิต
– ใบสำคัญการสมรส (ทะเบียนสมรส)
– ทะเบียนบ้าน
– บัตรประจำตัวประชาชน
– หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อตัว – ชื่อสกุล (ถ้ามี)
กรณีเสียชีวิต
– ใบมรณบัตร หรือ หนังสือรับรองการตาย (ขอได้ที่เทศบาล หรือ ที่ว่าการอำเภอ)
4. เอกสารของบุตรของผู้ตาย
กรณียังมีชีวิต
– ทะเบียนบ้าน
– บัตรประจำตัวประชาชน หรือ (ยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนให้ใช้ สูติบัตร)
– หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อตัว – ชื่อสกุล (ถ้ามี)
– ถ้าบุตรของผู้ตายคนใดสมรสแล้ว ให้เพิ่ม ใบสำคัญการสมรส (ทะเบียนสมรส)
กรณีเสียชีวิต
– ใบมรณบัตรหรือหนังสือรับรองการตาย (ขอได้ที่เทศบาล หรือ ที่ว่าการอำเภอ)
5. เอกสารอื่น ๆ
– บัญชีเครือญาติ >>คลิกดูตัวอย่าง<< (ผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก เป็นผู้ลงชื่อรับรองบัญชีเครือญาติ) ขอแบบได้ที่สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัด (กรณีว่าจ้างทนายความ ทนายจะเป็นผู้จัดทำบัญชีเครือญาติให้)
– หนังสือให้ความยินยอมในการร้องขอจัดการมรดก >>คลิกดูตัวอย่าง<< (บิดา,มารดา,คู่สมรส และบุตรของผู้ตายทุกคนที่ยังมีชีวิตต้องลงชื่อยินยอม (ยกเว้นผู้ที่ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก)) ขอแบบได้ที่สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัด (กรณีว่าจ้างทนายความ ทนายจะเป็นผู้จัดทำหนังสือให้ความยินยอม)
– เอกสารที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดก เช่น โฉนดที่ดิน, น.ส.3, สมุดคู่มือจดทะเบียนรถ, สมุดเงินฝากธนาคาร, ทะเบียนอาวุธปืน
>> วิธีการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก
– ยื่นคำร้องต่อศาลที่ผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย ได้แก่ ศาลแพ่ง (กทม.), ศาลจังหวัด (ต่างจังหวัด) หากผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ ให้ยื่นต่อศาลที่ทรัพย์มรดกนั้นตั้งอยู่ในเขตศาล
– ยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) ได้
– เมื่อยื่นคำร้องต่อศาลแล้ว กำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 45 – 60 วัน
– ส่วนการไต่สวนคำร้อง ผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องขอใช้วิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบประชุมทางจอภาพอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้โปรแกรม (Google Meet , Zoom Meeting , Line Meet) ได้
>> หน้าที่ของผู้จัดการมรดก
ผู้จัดการมรดก มีหน้าที่รวบรวม ทำบัญชี และแบ่งปันทรัพย์สินซึ่งเป็นมรดกของผู้ตายให้ทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกหรือผู้รับพินัยกรรม ตลอดจนชำระหนี้สินของเจ้ามรดกแก่เจ้าหนี้ ทำบัญชีทรัพย์มรดกและทำรายการแสดงบัญชีการจัดการและแบ่งมรดก โดยต้องจัดการไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่มรดก จะทำนิติกรรมใด ๆ ที่เป็นปรปักษ์ต่อกองมรดกไม่ได้